วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คำพิจารณาการกระทำความผิดและเลิกจ้าง

ช่วงสงกรานต์ หรือ ช่วงปีใหม่ เป็นช่วงที่สินค้าขายดี มีกำไรมาก แต่ลูกจ้างจะขาดงานคนละ 1 – 2 วัน ทำให้มีปัญหาในการจัดคนทำงาน ส่งสินค้าไม่ทันบ่อย ๆ  บริษัทจะเลิกจ้างข้อหาจงใจทำให้นายจ้างเสียหายได้หรือไม่ ?
·     มาดูกันว่าการหยุด การเลิกจ้างแบบนี้ นายจ้างแพ้คดีตรงไหน?

·     แนวคำพิพากษาของศาลในเรื่องแบบนี้ ท่านว่า
ลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถคอนเทนเนอร์นำสินค้าไปส่งห้างสรรพสินค้าต่างจังหวัดในช่วงปีใหม่ ซึ่งลูกจ้างรู้ดีว่าเป็นช่วงที่ขายดี หากลูกจ้างส่งสินค้าไม่ครบ ไม่ทัน นายจ้างจะเสียหายมาก แต่ลูกจ้างขาดงานไปโดยไม่ลา ไม่แจ้ง 2 วัน จึงเป็นการกระทำอื่นใดอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตาม ปพพ ตามาตรา 583  นายจ้างเลิกจ้างได้ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว ตาม พรบ จัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา 49 แล้ว
แต่การขาดงาน  2 วัน ไม่ครบ 3 วัน ไม่ใช่ความผิดกรณีร้ายแรงตาม 119 (5)  จึงต้องจ่ายค่าชดเชย  ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน เลขที่ 8244/2555 
นายจ้างจะป้องกัน แก้ไขอย่างไร ?
          เรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นทุกบริษัท ทุกโรงงาน ทั่วประเทศละครับ และ ถ้าขาดงานไป 3 วัน ก็เลิกจ้าได้ตาม มาตรา 119  (5 ) แต่ที่ทุกบริษัทหงุดหงิดหัวใจก็คือพวกที่ขาด 1-2 วัน ทำ ๆ หยุด ๆ นี่แหละครับ จะไล่ออกตามเพื่อนไปก็กล้า ๆ กลัว ๆ..ฝ่ายลูกจ้างก็ใจเต้นตุ้ม ๆ ต่อม ๆ เช่นกัน..555
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจกันทั้ง 2 ฝ่ายครับ
·       ลูกจ้างก็อยากกลับบ้านไปฉลองปีใหม่ สงกรานต์ที่บ้านต่างจังหวัด
·       นายจ้าง ก็มีโอกาสที่ขายได้มาก กำไรมาก
จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันในใจตลอดมา
          ในฐานะฝ่ายบุคคลเก่า ( แต่ไม่แก่ )  ก็ขอแนะนำดังต่อไปนี้ครับ
1.      ก่อนสงกรานต์ ก่อนปีใหม่ สัก1-2 เดือน นายจ้างควรวางแผนผลิต จัดส่งสินค้าให้ลูกค้าก่อนเนิ่น ๆ ช่วงปีใหม่จะได้หยุดพักผ่อนกันบ้าง
2.      ถ้าจัดล่วงหน้าไม่ได้ ก็จัดโปรโมชั่นเพิ่มไปเลย เช่น ใครอยู่ทำงานก็จ่ายเพิ่ม 300 - 500 บาท และได้คะแนนความร่วมมือไปเพิ่มโบนัสปลายปีด้วย
3.      อาจจะคุยกับคนบ้านไกลให้กลัวรถติด กลัวตายกลางทาง แล้วอยู่ทำงานก่อน หลังเทศกาลค่อยกลับก็ได้
4.      คนที่ไม่มีบ้านต่างจังหวัด ก็ขอความร่วมมือให้มาทำงานให้
5.      สำหรับงานขาย งานโรงแรม ห้างสรรรพสินค้าที่หยุดไม่ได้จริง ๆ ก็จ่ายค่าจ้างวันหยุดให้เพิ่มเติม หรือ ให้คอมมิชชั่นพิเศษ เลี้ยงข้าว จับฉลากรางวัลพิเศษ จัดงานปีใหม่ สงกรานต์ในที่ทำงานอะไรก็ว่าไป เพื่อจูงใจให้คนมาสนุกที่ทำงาน
6.      จัดให้หยุดก่อน – หยุดหลังเทศกาลก็ได้ 
7.      ควรอธิบายให้ลูกจ้างเข้าใจเหตุผล และขอความร่วมมือด้วย ก็จะผ่านไปด้วยดี
                 เมื่อใช้ทุกวิถีทางแล้ว ก็ยังขาดซ้ำอีก   ก็เชิญสวัสดีบริษัทไปเลย

              แต่ให้ระวังว่า…ค่าเที่ยวในงานขนส่งศาลท่านว่าเป็นค่าจ้างประเภทหนึ่ง ต้องนำมาคำนวณค่าล่วงเวลา / ค่าทำงานวันหยุด /ค่าชดเชยด้วย  ไปไล่เขาออก ระวังจะโดนขอดเกล็ดย้อนหลัง ไม่ใช่น้อย…

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ
จาก อ.สิทธิศักดิ์ ศรีธรรมวัฒนา
วิทยากรอารมณ์ดี ที่ปรึกษา และนักเขียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น