นายจ้างหมดสัญญาจ้างกับหน่วยงานอื่น จึงย้ายให้ลูกจ้างไปทำงานที่สาขาอื่น หรือ หางานอื่นให้แล้ว แต่ลูกจ้างไม่ไป จะถือว่าละทิ้งหน้าที่ 3 วันแล้วได้หรือไม่ ?
· บางคนก็ว่าได้ เพราะนายจ้างหางานใหม่ให้แล้วแต่ไม่ไปทำเอง
· บางคนก็ว่ายังไม่ได้ เพราะงานใหม่ลูกจ้างอาจจะทำได้และเกิดความเดือดร้อนเกินควร
มาดูกันว่าคดีแบบนี้ศาลท่านว่าอย่างไร ?
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 3197 – 3279 /2553 ( ลูกจ้าง 82 คน )
ศาลท่านว่า....ก่อนหมดสัญญากับหน่วยงานอื่น นายจ้างได้เสนองานที่สาขาใหม่ให้ลูกจ้างทำและให้เงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านอีกเดือนละ 1000 บาท... อีกทั้งได้ประสานงานกับนายจ้างอื่นที่เข้าไปทำงานต่อจากตัวเองให้รับลูกจ้างเข้าทำงานต่อด้วย...อืกทั้งในสัญญาจ้างก็ระบุไว้แล้วว่านายจ้างมีสิทธิโยกย้ายสถานที่ทำงานของลูกจ้างได้ ถือว่านายจ้างได้ให้ความช่วยเหลือตามสมควรและตามสิทธิแล้ว จึงไม่เป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้าง การที่ลูกจ้างไม่ไปทำงานที่นายจ้างจัดให้ติดต่อกันเกิน 3 วัน จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ติดต่อกัน 3 วันโดยไม่มีเหตุอันควรแล้ว
คำแนะนำท้ายฎีกา
เรื่องแบบนี้ ก็มักจะลงเอยแบบนี้...ที่เห็นกันอยู่ทั่วฟ้าเมืองไทยก็คือ บริษัทซับคอนแทรกทั้งหลาย ถ้าหมดสัญญาจ้างจากที่หนึ่งก็มักจะย้ายลูกจ้างไปทำงานอีกที่หนึ่ง ใครไปได้ก็ไป ใครไม่ไป 3 วันก็ปลดออก..หรือ กรณีที่บริษัทผู้ว่าจ้างไม่เอา ส่งตัวคืน บริษัทซับคอนแทรกก็จะส่งตัวไปที่อื่น ใครไม่ไปก็ถือว่าขาดงาน ก็ปลดออกอีกเช่นกัน
ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่เต็มหัวใจว่าลูกจ้างไปไม่ได้ ก็ยังทำกันอยู่ทุกวัน เพราะเป็นช่องโหว่เดียวที่เลิกจ้างได้ไม่ต้องจ่ายเงิน และเป็นช่องโหว่รูเบ้อเริ่มเทิ่มของกฎหมายที่คนทำเป็นมองไม่เห็น...555
อยากจะขอความเข้าใจจากท่านนายจ้างที่ดี ให้ทราบว่าการที่คน ๆ หนึ่งจะย้ายสถานที่ทำงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ
1. ไม่แน่ใจว่าที่ใหม่จะดีกว่าที่เก่าหรือไม่
2. หัวหน้าใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่จะดีหรือไม่
3. ลูกที่กำลังเรียนจะต้องย้ายโรงเรียนตาม..สามี/ภรรยา ต้องหางานใหม่ใกล้กัน..พ่อ แม่ที่แก่แล้วจะย้ายตามไปอย่างไร
4. ค่าเช่าบ้าน ค่าครองชีพที่ใหม่อาจจะแพงกว่า ลำบากกว่า
5. เพื่อนบ้าน สังคมใหม่จะเป็นอย่างไร
ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคิดมาก ๆ ให้รอบคอบก่อนย้ายงาน นายจ้างจะถือว่าตัวเองมีสิทธิ หรือ แกล้งย้ายไปให้พ้น ๆ ตัวไม่ได้
ตัวอย่างการป้องกัน แก้ไข
ในกรณีที่จำเป็นต้องย้ายจริง ๆ ก็ขอแนะนำดังนี้
1. ประกาศให้ลูกจ้างรู้ตัวล่วงหน้าว่าจะย้ายแน่ ๆ สัก 3 เดือนล่วงหน้า เพื่อให้ลูกจ้างตัดสินใจว่าจะไป หรือ จะหางานใหม่
2. คนที่จะไปก็พาเขาไปดูสถานที่ใหม่ให้มั่นใจ บอกหัวหน้างานใหม่ ให้ดูแลเขาให้ดี หาที่พัก ที่กินให้เขาสะดวกตามสมควร
3. หาโรงเรียนให้ลูกเขาใหม่..หางานใหม่ให้สามี/ภรรยาเขาหรือรับเข้าทำงานด้วยกันก็ยิ่งดี
4. คนที่ไม่ไป ก็เริ่มวางแผนเลิกจ้าง มีเงินก็จ่ายไป ไม่มีเงินก็ขอร้องให้ลาออกโดยแถมเงินให้บางส่วน
5. ถ้ามีงานแถว ๆ ที่ตั้งเดิม ก็ไปขอให้เขารับลูกจ้างเข้าทำงาน
6. จัดงานเลี้ยงอำลากันให้ประทับใจ
อะไรดี ๆ จะทำให้กัน...ให้ความดีนั้นอยู่ในความทรงจำของลูกจ้างตลอดไป
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก อ.สิทธิศักดิ์ ศรีธรรมวัฒนา
วิทยากรอารมรณ์ดี ที่ปรึกษา นักเขียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น