วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ประเด็นปัญหา ลูกจ้างฟ้องขอค่าบอกกล่าวล่วงหน้า มาน้อยกว่าที่คำนวณได้จริง 1 บาท ศาลท่านจะสั่งให้ได้ตามจริง หรือ สั่งให้ตามขอ ?

ประเด็นปัญหา
ลูกจ้างฟ้องขอค่าบอกกล่าวล่วงหน้า    มาน้อยกว่าที่คำนวณได้จริง 1 บาท ศาลท่านจะสั่งให้ได้ตามจริง หรือ สั่งให้ตามขอ ?


แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 1841/2554

ศาลท่านว่า....หากคำนวณตามหลักเกณฑ์จริงลูกจ้างจะได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 47,000 บาท แต่ลูกจ้างคำนวณผิดร้องขอมา 46,999 บาท น้อยกว่าที่คำนวณได้จริง 1 บาท เพื่อความเป็นธรรม ตาม พรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 ศาลท่านจึงใช้อำนาจพิพากษาเกินคำขอได้ โดยสั่งให้นายจ้างจ่าย 47,000 บาทตามที่คำนวณได้จริง ( เพิ่มอีก 1 บาท )    


คำแนะนำท้ายฎีกา




       เรื่องแบบนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า แค่เงิน1 บาททำไมต้องไปฟ้องร้องกันให้เสียเวลา บอกกันดี ๆ แล้วจ่ายกันให้จบในบ้านไม่ได้หรือ?

ช้าก่อนครับพี่น้อง มันอาจจะไม่ใช่แค่เงิน บาทอย่างเดียว อาจจะมีเรื่องอื่นด้วย ..อาจจะต้องจ่ายเพิ่มอีกเป็นหมื่นก็ได้ ถ้านายจ้างไม่ได้นำ “ เงินอื่นที่เป็นค่าจ้าง ”  มารวมคำนวณให้ครบ 
มาดูกันว่าเงินอื่น ๆ ที่ศาลท่านว่าเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณค่าบอกกล่าวล่วงหน้า มีค่าอะไรบ้าง ?

1.      เงินค่าครองชีพ จ่ายเท่ากันทุกเดือน เป็นค่าจ้าง ฎีกาที่ 2819/2532
2.      เงินค่าตำแหน่ง ที่จ่ายเท่ากันทุกเดือนเป็นค่าจ้างฎีกาที่ 5095 - 5099/2539
3.       ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าทักษะ / ค่าฝีมือ / ค่าทำงานในที่มีความร้อน / ค่าทำงานในห้องเย็น  จ่ายทุกวัน ๆละ 15 บาท เป็นค่าจ้าง..ตามแนวฎีกาที่ 1704/2527
4.      ค่าเบี้ยเลี้ยงทำงานต่างจังหวัดและค่าที่พัก  จ่ายเท่ากันทุกเดือนเป็นค่าจ้าง ฎีกาที่ 1328/2527
5.      ค่ากะ ( เช้า 15 บ่าย 25 ดึก 40 ) เป็นค่าจ้าง  ฎีกาที่ 2770/2528
6.      เปอร์เซ็นต์การขายที่คิดจากยอดขายแต่ละคน เป็นค่าจ้าง .ฎีกาที่ 3693 -3695/2525
7.      ค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์เหมาจ่าย เท่ากันทุกเดือน เป็นค่าจ้าง..ฎีกาที่ 7402/2544
8.       ค่ารถและค่าที่พักสำหรับงานขายต่างจังหวัด จ่ายเท่ากันทุกเดือน เป็นค่าจ้าง..ฎีกาที่ 2384/2547
9.       เงินค่าอาหารที่ย้ายไปทำงานต่างจังหวัด จ่ายเท่ากันทุกเดือน เป็นค่าจ้าง ..ฎีกาที่ 5498/2543
10.   เงินค่าเที่ยว ที่จ่ายให้พนักงานขับรถ จ่ายตามระยะทางใกล้ไกลไม่เท่ากัน เป็นค่าจ้าง  ฎีกาที่ 7287/2550

เอาแค่ 10 ค่าเบาะ ๆ ก่อน ถ้านายจ้างท่านใดมีเงินใด เงินหนึ่งใน 10 ค่านี้แล้วไม่นำไปคำนวณค้าบอกกล่าวล่วงหน้าก็ต้องโดนลูกจ้างฟ้องอีกหลายดอก คือ
1.      ฟ้องขอค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มอีก 1 ดอก
2.      ฟ้องขอค่าชดเชยเพิ่มอีก 1 ดอก
3.      ฟ้องขอค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มอีก 1 ดอก
4.      ฟ้องขอค่าล่วงเวลาย้อนหลังอีก 1 ดอกใหญ่ ๆ
ทั้ง 4 ดอกนี้จะต้องจ่ายให้พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ย้อนหลัง 2 ปีด้วย

ท่านลูกจ้างทั้งหลายก็ควรจะทราบถึงเงินเหล่านี้ไว้บ้างว่าเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณค่าล่วงเวลา ( ถ้ายังทำงานอยู่ ) หรือ ต้องนำมาคำนวณค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลือ เมื่อถูกเลิกจ้าง จะได้ขอเข้าไปในคำฟ้องให้ครบซะทีเดียว..
หากไม่ได้ขอเข้าไปศาลท่านไม่มีอำนาจพิจารณาให้และถ้าลงชื่อสละสิทธิใด ๆ ในวันรับเงินแล้ว จะไปฟ้องอีกก็ไม่ได้

สำหรับท่านนายจ้าง ถ้าบอกแล้ว รู้แล้วก็ยังไม่จ่ายอีกก็จะโดนดอกอื่น ๆ เพิ่มตามมาอีกเพียบ
5.      ลูกจ้างไปกระซิบประกันสังคมว่า อาจจะหักค่าจ้างส่งเงินสมทบประกันสังคมไม่ครบ อีก 1 ดอก
6.      ลูกจ้างไปกระซิบสรรพากร ว่าอาจจะหักภาษีไม่ถูกต้อง ให้สรรพากรมาตรวจสอบเพิ่มอีก 1 ดอก
7.      ลูกจ้างไปฟ้องแรงงาน ฟ้องตำรวจว่ารับคนต่างด้าวเข้าทำงาน ( ถ้ามี ) ก็โดนไปอีก 1 ดอก
8.      ลูกจ้างไปฟ้องว่าไม่มี จป.วิชาชีพ / ไม่ได้ซ้อมดับเพลิง / ไม่มีกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ หรือ อื่น ๆ ก็จะโดนไปติด ๆ กันอีกกหลายดอก และรวมเป็นเงินก็อาจจะหลายแสนบาท หลายคนก็หลายลานละครับ

ดังนั้นอย่าคิดว่า 1 บาท ให้ 10 บาทไม่ต้องทอนแล้วจะจบนะครับพี่น้อง..555
 


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..
1.      ศาลท่านมีอำนาจสั่งตามจริงตามกฎหมายได้ คือ ขอมาเกินก็สั่งให้ลดได้ ขอมาขาดก็สั่งให้เพิ่มได้ ( หากเกรงว่าท่านจะลืมก็ยกกฎหมายที่อ้างถึงในฎีกานี้พูดเตือนสติท่านขณะให้การก็ได้)
2.      ก่อนที่ท่านนายจ้างจะตัดสินใจเลิกจ้างใครให้หันมานำเงินค่าอื่น ๆ ที่จ่ายอยู่มารวมคำนวณค่าบอกกล่าว ค่าชดเชยให้ครบ ให้ถูกต้องซะแต่แรก

3.      ท่านลูกจ้างทั้งหลาย ก็ลองรวมเงินค่าต่าง ๆ มาคำนวณไว้ล่วงหน้าใส่กระเป๋าไว้บ้าง เผื่อถูกเรียกไปเจรจาให้จากกัน จะได้ขอเงินให้ครบทุกค่า ทุกบาททุกสตางค์..555

ขอขอบคุณที่แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ดี ๆ จาก
อ.สิทธิศักดิ์ ศรีธรรมวัฒนา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น