วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

อุปนิสัยที่สำคัญของคนที่มี High productivity.

อุปนิสัยที่สำคัญของคนที่มี High Productivity

outstanding employee
เคยสงสัยหรือไม่ครับว่า ทำไมคนเราที่มีเวลาเท่ากันวันละ 24 ชั่วโมง ถึงสร้างผลงานออกมาได้ไม่เท่ากัน คำตอบก็คือ แต่ละคนจะมีอุปนิสัยที่แตกต่างกันในการทำงาน มีความมุ่งมั่นที่แตกต่างกันในแต่ละคน วันนี้เราลองมาดูกันว่า คนที่มีผลผลิตสูงๆ หรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกกันว่า High Productivity นั้น เขาเป็นคนที่มีอุปนิสัยสำคัญๆ อะไรบ้าง
  • มีการวางแผนงานในแต่ละวันที่ชัดเจน คนที่มีผลงาน และผลผลิตสูงนั้น สิ่งแรกที่ทุกคนมีก็คือ ทุกเช้าจะ หรือทุกกลางคืนก่อนนอน จะมีการวางแผนงานในแต่ละวันว่า วันนี้ หรือวันพรุ่งนี้จะต้องทำอะไรบ้าง และเรียงลำดับความสำคัญของงานอย่างชัดเจน ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง เพื่อที่ว่าพอถึงเวลา ก็จะได้ลงมือทำตามแผนงานที่วางไว้ทันที ประเด็นสำคัญก็คือ จะต้องมีการควบคุมตนเองให้ทำตามแผนงานที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด คนที่มีผลงานสูงๆ จะค่อนข้างจะเคร่ง และจริงจังกับแผนงานประจำวันอย่างมาก เรียกได้ว่า วางแผนงานอะไรไว้ จะต้องทำให้สำเร็จก่อนที่จะเปลี่ยนไปทำงานอื่น และจะไม่มีการเปลี่ยนแผนง่ายๆ หรือ ถูกเรื่องอื่นดึงให้ออกไปจากแผนงานที่กำหนด
  • ถ้ามีงานแทรกจะมีวิธีการจัดการ คนที่ผลงานโดดเด่น และทำงานได้มากๆ ในแต่ละวัน เวลาที่มีงานเล็กๆ เข้าแทรก หรือจู่ๆ ก็ทีความคิดอีกงานแว้บขึ้นมา สิ่งที่คนเหล่านี้จะทำ ก็คือจะรีบเอากระดาษมาจดไว้ ว่าสิ่งที่คิดไว้มีอะไรบ้าง และจากนั้นก็ทำงานสำคัญต่อ จนงานเสร็จ ถึงมาจัดการกับงานเล็กๆ น้อยๆ ตามมา
  • รู้จักช่วงเวลาแห่งพลัง คนที่มีผลิตภาพสูงๆ จะเป็นคนที่รู้จักตนเองว่า ช่วงเวลาไหนของวันที่ตนเองมีพลังในการทำงานมากที่สุด และจะใช้ช่วงเวลานั้นของวันในการลงมือทำงานที่สำคัญที่สุดที่ได้จัดเวลาไว้ในแผนงาน เพื่อให้งานที่ยากที่สุดได้ผลสำเร็จออกมาอย่างดี ช่วงเวลาแบบนี้ของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน บางคนเป็นช่วงเช้า บางคนเป็นช่วงดึกๆ ลองสังเกตจากตัวเองก็ได้ครับ ผมเชื่อว่าเรารู้ตัวเองอยู่แล้วว่า ช่วงไหนของวันที่เป็นช่วงเวลาแห่งพลังของเรา
  • รู้จักพัก คนที่ทำงานได้มากๆ ในแต่ละวันนั้นไม่ใช่คนที่ทำงานแบบไม่รู้จักพัก แต่จะเป็นคนที่วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว และจัดเวลาให้ตนเองได้พักเป็นช่วงๆ สิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำก็คือ ทำงานใหญ่เสร็จ 1 งานก็จะให้เวลาตนเองพักได้สักช่วงหนึ่ง และจากนั้นก็ต้องกลับมาเริ่มงานที่สองกันต่อไป ห้ามพักเพลิน ถึงเวลาทานข้าว ก็ต้องให้เวลากับตนเอง เพราะถ้าเราไม่พัก ร่างกายจะเหนื่อย และจะไม่มีแรงในการทำงานต่อไปอีก
  • เป็นคนที่ประมาณการใช้เวลาของตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม กล่าวคือ บางคนวางแผนการทำงานในแต่ละวันโดยใช้เวลามากเกินกว่าความเป็นจริง ผลก็คือ งานของเราก็จะเสร็จก่อน และมีเวลาเหลือ ก็จะไม่มีอะไรทำ หรือบางคนวางแผนเวลาไว้นานไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราก็จะยืดเวลาในการทำงานนั้นออกไปตามเวลาที่กำหนด ทั้งๆ ที่เราสามารถจัดการให้เสร็จเร็วกว่านี้ได้ หรือบางคนประเมินเวลาในการทำงานของตนเองสั้นเกินไป ก็จะทำให้แต่ละวันมีหลายงานที่ต้องทำ ผลก็คือ ทำงานไม่ทันตามแผนที่เรากำหนดไว้ ทำให้งานพอกออกไปเรื่อยๆ หรือมีการเลื่อนวันออกไปอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคนที่มีผลิตภาพสูงๆ จะเป็นคนที่สามารถประเมินเวลาของตนเองในการทำงานแต่ละงานได้อย่างแม่นยำ และสามารถควบคุมตนเองให้ทำงานตามเวลาที่กำหนดไว้ได้
  • ไม่หลุดง่ายๆ คนที่ผลผลิตที่ดีนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ทำงานด้วยสมาธิที่แน่วแน่มากๆ ไม่มีอาการหลุดออกจากงานที่ทำเลย จะนิ่งและทำงานจนเสร็จก่อน ที่จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ซึ่งจริงๆ แล้วคุณสมบัติข้อนี้มีความสำคัญมากในยุคนี้ เพราะเป็นยุคที่มีสิ่งรอบตัวมากมายที่จะทำให้เราหลุดจากสมาธิได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Social network ต่างๆ ที่บางคนก็ทำงานไป เล่นไปด้วย หรือทำอย่างอื่นไปด้วย ซึ่งสุดท้ายเราก็จะหลุดออกจากตัวงานและไปทำอย่างอื่นที่เรารู้สึกชอบ และสนุกแทน ผลก็คือ งานไม่เสร็จตามที่กำหนด ผลงานถดถอย
นี่ก็คือเทคนิคง่ายๆ แต่ตอนที่ลงมือทำจริง ไม่รู้ว่าจะง่ายอย่างที่พูดไว้หรือไม่ ผมเคยเห็นน้องๆ หลายคนที่นั่งทำงานไป ยังไม่ทันถึง 10 นาที ก็หยิบโทรศัพท์มากดๆๆ กันไป กดกันไปนานกว่า 20 นาที จากนั้นก็หันกลับมาทำงาน ทำได้ไม่ถึง 5 นาที ก็เห็นเปิด facebook นั่งไล่อ่าน status ของคนอื่นๆ ไปเรื่อยๆ คราวนี้นานมากครับ กว่าจะดึงตัวเองกลับมาทำงานได้ สุดท้ายผลงานก็ไม่ออก งานก็ไม่เสร็จ
แล้วก็ชอบมาบ่นว่า ไม่มีเวลา และงานเยอะมาก ไม่เสร็จสักที ก็เพราะแบบนี้แหละครับ งานก็เลยไม่เสร็จ
 ได้เขียนไว้ครับ

บุคลิกภาพของผู้นำหรือผู้บริหาร


บุคลิกภาพของผู้นำหรือผู้บริหาร
March 29, 2015
ที่ไหนๆ ก็มีวิกฤตการเลือกหรือการยอมรับผู้นำของตัวเอง ไม่ต้องตกใจหรือแปลกใจไปหรอกครับ ...
แต่ปัญหานี้ แม้จะเกิดขึ้นได้กับทุกที่ ไม่ว่าจะในครอบครัว ในที่ทำงาน ในชุมชน ในสังคม ในประเทศ หรือในโลก ก็ล้วนต้องหาทางออกเดียวกัน นั่นคือมองหาผู้นำที่ “เหมาะสม”
เบื้องต้นก็คือ “เหมาะสมกับสถานการณ์” หลังจากนั้นผู้นำหรือผู้บริหารก็ต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการเดินนำคนอื่นๆ ไปอย่างถาวร 
ความสำคัญทางบุคลิกภาพของผู้นำ
บุคลิกภาพของผู้นำ หรือผู้บริหารมีความสำคัญต่อความสำเร็จ หรือความล้มเหลวในการบริหารงานเป็นอย่างยิ่ง ผู้บริหารที่มีบุคลิกภาพดีย่อมได้รับการยอมรับนับถือจากผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อการยอมรับเกิดขึ้นการบริหารงานย่อมดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เพราะจะได้รับความร่วมมือในทุกๆ ด้าน
พูดก็มีคนฟัง ฟังแล้วก็เชื่อ คล้อยตาม เมื่อมีคำสั่งหรือดำเนินการ ก็ได้รับความร่วมแรงร่วมใจ เจอปัญหาก็พร้อมที่จะช่วยกันแก้ไข แล้วหัวเราะกับความสำเร็จด้วยกันที่เส้นชัย
แต่หากผู้นำมีบุคลิกภาพที่ไม่ได้การยอมรับ เช่น โผงผาง ช่างเถียง หยาบคาย ฟังใครไม่เป็น เวลานั่งประชุม ซึ่งควรจะเป็นผู้ใหญ่ซึ่งจดจ่อใส่ใจต่อการมีส่วนร่วมในที่ประชุม ก็กลับนั่งพับนกพับเรือเล่น อย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างที่หาคนมีจิตศรัทธาด้วยยาก เพราะตัวท่านเองก็ดูเหมือนไม่ได้อยากจะมีส่วนร่วมอันใดกับใคร เพียงแต่ทำทุกอย่างตามใจ ตามเหตุผล ตามความคิดหรือความต้องการที่ตนเองเห็นว่าดีแล้วก็เท่านั้น     
องค์ประกอบของบุคลิกภาพ
บุคลิกภาพของบุคคลประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ประการดังนี้
1.บุคลิกภาพทางกาย
2.บุคลิกภาพทางอารมณ์และจิตวิทยา
3.บุคลิกภาพทางสังคม
4.บุคลิกภาพทางสติปัญญา
บุคคลธรรมดาๆ จะได้รับความคาดหวังเพียงระดับหนึ่ง แต่บุคคลระดับนำ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้นำจริงๆ นั้น จะถูกคาดหวังในเรื่องบุคลิกภาพที่ดีเป็นอย่างมาก และมักจะถูกตำหนิได้ง่ายๆ จึงต้องระมัดระวัง ใส่ใจ ต่อทุกๆ การพูด คิด ทำ สั่ง แสดงออก ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกิริยาอาการ การกระทำ หรือความเคลื่อนไหวที่อยู่ในความสนใจ และการจับตามองของคนอื่นทั้งสิ้น
บุคลิกภาพทางกาย
แบ่งเป็นองค์ประกอบย่อย 2 องค์ประกอบ
ประการแรก คือ รูปลักษณ์ภายนอกของผู้บริหารเป็นประการแรกที่ปรากฏแก่สายตาผู้คน ความสะอาดของร่างกายเป็นความสำคัญอันดับแรก การแต่งกายเรียบร้อยเหมาะสมกับตำแหน่ง วัย และสถานการณ์ มีความสำคัญอันดับต่อมา สองสิ่งนี้ประกอบกันเข้าเป็นบุคลิกภาพภายนอกของบุคคลนั้นๆ
บุคลิกภาพส่วนนี้ จะเป็นตัวสื่อสารให้บุคคลที่พบเห็นรู้จักท่านในเรื่องต่างๆ คือ ระดับการศึกษา ตำแหน่ง ฐานะทางเศรษฐกิจ ชนชั้นในสังคม จากสายตาของเขาเอง โดยไม่ต้องใช้ภาษาพูด
ด้านวิชาการบางท่านเรียกสิ่งนี้ว่า การสื่อสารที่ไร้ศัพท์ ผู้บริหารที่ขาดการใส่การสื่อสารที่ไร้ศัพท์นี้ อาจจะสื่อสารให้ผู้พบเห็นเข้าใจในเรื่องต่างๆ ของท่านผิดไปจากความจริงได้
ประการที่สองคือ บุคลิกภาพภายใน ผู้บริหารต้องมีความสามารถในการพูดการโต้ตอบที่ดี มีความฉลาดแหลมคมในการสนทนา เป็นผู้นำกลุ่มได้ และต้องมีข้อมูลอย่างเพียงพอ เพื่อประกอบการตอบโต้อย่างแหลมคมได้ ดังนั้นผู้บริหารจำเป็นต้องอ่านหนังสืออยู่เสมอจะได้ทันสมัย และไวต่อการสื่อสารทางภาษาพูดอย่างมีประสิทธิภาพ องค์ประกอบย่อยสองประการนี้รวมกันเป็นองค์ประกอบของบุคลิกภาพทางกายของผู้บริหาร ที่จะก่อให้เกิดการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชา
บุคลิกภาพทางอารมณ์และจิตวิทยา
ผู้บริหารที่มีบุคลิกภาพดีต้องเป็นผู้มีความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่หงุดหงิด ฉุนเฉียว บ่นว่าตลอดเวลา มีความกล้าหาญในการเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักชมเชย พูดจาโน้มน้าวจูงใจคนให้ทำงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าของหน่วยงาน สังคม หรือประเทศชาติได้ และมีจิตใจที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าของผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บริหารที่มีบุคลิกภาพดี ต้องรักษาอารมณ์ได้ ทนต่อความกดดัน เหนื่อยล้า ทนเสียงต่อว่าและความว้าเหว่ได้มากกว่าผู้อื่น ทั้งต้องระงับความโกรธได้อย่างรวดเร็ว มีเมตตาธรรมและความสงบสันติอยู่ในใจอย่างเปี่ยมล้น เห็นคนทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เห็นใครก็มองเป็นศัตรูผู้รุกรานไปเสียทั้งหมด
บุคลิกภาพทางสังคม
ผู้บริหารควรเป็นผู้นำในการศึกษาหาความรู้ในพิธีการต่างๆ ตามบรรทัดฐาน (Norms) ของสังคม เพื่อจะได้ปฏิบัติตามมารยาทสากลได้อย่างถูกต้อง สามารถเป็นตัวอย่างให้คำแนะนำแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดทั้งคนรอบข้างได้
บุคลิกภาพทางสติปัญญา
ผู้บริหารที่มีบุคลิกภาพดี ต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์พอที่จะเป็นผู้นำกลุ่ม สามารถคิดสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สถานศึกษาได้ ซึ่งอาจสรุปได้ว่าสติปัญญาและความรอบรู้ในวิชาชีพของผู้บริหาร เป็นสิ่งสำคัญมากในการบริหาร
องค์ประกอบทั้ง 4 ด้านของบุคลิกภาพที่ดีของผู้บริหารนั้น นับได้ว่าทุกด้านมีความสำคัญเท่าเทียมกันสมควรที่ผู้บริหารควรตระหนัก หมั่นฝึกฝนจนเป็นภาพลักษณ์ที่ปรากฏแก่สายตาของคนทั่วไป เพราะนั่นคือสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการจูงใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชายอมรับนับถือ อันจะส่งผลถึงการร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติงานอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม บุคลิกภาพที่ดีของผู้นำหรือบริหาร แม้จะไม่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตั้งแต่ดั้งแต่เดิม แต่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้
ทำนองเดียวกันไม่มีใครสามารถสร้างบุคลิกภาพที่แย่ให้แก่ผู้นำ หรือบริหารได้ นอกจากตัวผู้นำหรือผู้บริหารเอง!!
 ที่มา HR Manager Group.

4 คุณสมบัติของการเป็น HR มืออาชีพ


4 คุณสมบัติของการเป็น HR มืออาชีพ
March 30, 2015
แผนกที่พนักงานบริษัทหลาย ๆ คนให้ความไว้วางใจและมักจะขอความช่วยเหลืออยู่เป็นประจำ คงไม่พ้นพนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ความเป็นมืออาชีพของ HR ก็สามารถบ่งบอกได้ถึงความมีมาตรฐานและความเป็นมืออาชีพของบริษัทได้เป็นอย่างดี เพราะพนักงานฝ่ายบุคคลเป็นส่วนที่จะมาบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ทางด้านทรัพยากรบุคคล เคยคิดหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลเพียงคนเดียวจะสามารถทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้อย่างน่าประทับใจมากมาย แต่กลับมีคุณสมบัติเพียงแค่ 4 ประการเท่านั้นเอง
1. ทำงานอยู่เหนือความคาดหวัง
          พนักงานฝ่ายบุคคลอาจจะไม่ต้องมีความสามารถขนาดอ่านใจพนักงานคนอื่น ๆ ได้ แต่การที่ HR สามารถสนองตอบต่อความต้องการของพนักงานได้อย่างทันท่วงทีก็น่าจะเป็นสิ่งที่ สร้างความประทับใจ และความไว้วางใจได้ไม่อยากเย็น ในการทำงานทุกคนก็คาดหวังความรวดเร็ว ฉับไว หาก HR สามารถทำงานอย่างอยู่เหนือความคาดหวังได้ เสมือนหนึ่งว่าความต้องการของพนักงานนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของ HR เอง ก็จะยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ HR เกิดความรู้สึกถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น
2. เป็นผู้รู้รอบ
          ความรอบรู้เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ HR จะขาดเสียไม่ได้ เพราะการที่เป็นคนรู้รอบไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้สามารถตอบคำถามพนักงานได้ อย่างมีประสิทธิภาพ น่าประทับใจแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นคนน่าเชื่อถือ และน่าไว้วางใจให้เกิดขึ้นด้วย ในการขอความช่วยเหลือด้านข้อมูลกับ HR ในแต่ละครั้ง พนักงานก็คาดหวังที่จะได้เนื้อหาที่ถูกต้อง เพราะเขาเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าพนักงาน HR คือบุคคลที่ไว้วางใจได้ในการช่วยจัดการธุระต่าง ๆ ให้ อีกทั้ง HR อาจจะต้องทำหน้าที่เป็นนักสังเกตการณ์พฤติกรรมของพนักงานในบริษัทไปด้วยใน ตัว เพราะนั่นจะช่วยทำให้ HR สามารถสนองตอบต่อความต้องการของพนักงานได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
3. เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี
          การที่ HR เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีไม่ได้เป็นการพิสูจน์เพียงว่าคน ๆ นั้นเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี น่าคบหา หรือเป็นความมีเสน่ห์ในทางส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อการทำงานด้วย เพราะในการทำหน้าที่ของ HR นั้น จำเป็นที่จะต้องรู้จักกับพนักงานทั้งบริษัทได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าอาจจะไม่ได้หมายถึงในทางส่วนตัว แต่ต้องรู้ว่าในตำแหน่งหน้าที่พนักงานคนนั้น ในฐานะที่เป็น HR แล้วจะสนองตอบต่อความต้องการของพนักงานคนนั้นอย่างไรได้บ้าง การที่ HR มีมนุษยสัมพันธ์เป็นอย่างดีย่อมส่งผลต่อการทำงานที่ราบรื่น และมีประสิทธิภาพของบริษัทด้วยเช่นกัน และปฏิเสธไม่ได้ว่า HR อาจจะต้องมีความเป็นผู้สร้างความสนุกสนาน หรือประสานงานในกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท เพื่อสร้างมิตรภาพและความเป็นกันเอง
4. เป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดี
        ปัญหามักจะเกิดขึ้นเพื่อให้แก้ไขอยู่ตลอดเวลา ความท้อถอยก็เช่นเดียวกัน มักจะเกิดขึ้นในชีวิตของการทำงานได้เสมอ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความเป็นมืออาชีพของ HR จะช่วยบรรเทาปัดเป่าปัญหาเหล่านั้นได้ โดยการทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีในยามที่พนักงานเกิดความท้อแท้ ถดถอย หมดกำลังใจในการทำงาน HR สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ให้กำลังใจที่ดี และยังต้องเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือสนับสนุนความคิดใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในบริษัท เพื่อให้พนักงานมีทัศนคติที่ถูกต้องเหมาะสม

          การทำหน้าที่ของนักบริหารทรัพยากรบุคคล หรือ HR เป็นตัวชี้วัดความมีมาตรฐานของบริษัทได้อย่างยอดเยี่ยม หาก HR ทำงานได้อย่างมีระบบ และน่าประทับใจย่อมแสดงถึงความมีระบบระเบียบของบริษัทได้เป็นอย่างดี