วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

คิดอย่างไรกับการคัดเลือกคนเลื่อนตำแหน่ง

เกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งควรมีอะไรบ้าง

พอพูดถึงเรื่องของการเลื่อนตำแหน่ง องค์กรทั่วๆไปในบ้านเรายังไม่ค่อยมีการกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจน ส่วนใหญ่มักจะใช้เกณฑ์เดียวที่เหมือนกันเกือบทุกที่ก็คือ เรื่องของจำนวนปีที่ทำงานในองค์กร บางแห่งไม่เคยดูผลงานเลยก็มีนะครับ เอาแค่เพียงว่า ทำงานครบ 5 ปีก็จะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งให้ ลองมาดูกันว่า การเลื่อนตำแหน่งนั้นเราควรจะพิจารณาอะไรกันบ้าง
ก่อนอื่นก็คงต้องมานิยามกันให้ชัดเจนก่อนว่า คำว่า “เลื่อนตำแหน่ง” นั้น หมายถึงอะไร
คำนี้ความหมายโดยหลักการแล้วก็คือ การที่พนักงานคนหนึ่ง ได้รับตำแหน่งงานที่สูงขึ้น หรือ ระดับงานที่สูงขึ้น เนื่องจากแสดงศักยภาพในการรับผิดชอบงานที่มากขึ้น ยากขึ้น และมีขอบเขตงานที่ใหญ่ขึ้นนั่นเอง หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ การเลื่อนตำแหน่งแล้วนั้น งานจะต้องไม่เหมือนเดิมครับ แล้วเราจะมีเกณฑ์อะไรบอกเราได้บ้างว่า พนักงานคนไหนควรจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือไม่อย่างไร
  • อายุงาน เกณฑ์แรกที่หัวหน้างาน หรือผู้จัดการชอบใช้มาอ้างก็คือ อายุงานครับ เป็นเกณฑ์ตัวแรกเลยที่มักจะได้ยินจากปากของผู้จัดการ ก็คือ “พนักงานคนนี้ทำงานกับเรามา 5 ปีกว่า แล้ว เราน่าจะเลื่อนตำแหน่งให้เขาได้แล้ว” เป็นต้น เกณฑ์ด้านอายุงานนั้น เป็นเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งที่ไม่สอดคล้องกับนิยามของการเลื่อนตำแหน่งข้างต้นเลยครับ เพราะองค์กรที่ใช้เรื่องของอายุงานเป็นเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่งนั้น พนักงานมักจะยังคงทำงานเหมือนเดิม ไม่ว่าจะถูกเลื่อนไปเป็นตำแหน่งอะไรก็ตาม ผมเคยเห็นบางองค์กร ตำแหน่งผู้จัดการเต็มบริษัทเลยครับ เพราะถูกเลื่อนขึ้นมาเรื่อยๆ ตามอายุงานที่ทำงานกับบริษัท
  • ผลงานที่ผ่านมา เกณฑ์ที่สองนี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เรามักจะใช้อ้างอิงในการเลื่อนตำแหน่ง เพราะผลงานพนักงานออกมาดีมาก สามารถสร้างผลงานที่ดีให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง เราก็เอาเกณฑ์นี้มาพิจารณาว่า น่าจะเลื่อนตำแหน่งให้กับพนักงานเสียที เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนให้กับพนักงานที่ทำงานดีมาโดยตลอด ซึ่งเกณฑ์เรื่องผลงานนี้ ถือว่าเอามาใช้อ้างอิงได้ครับ และเป็นเกณฑ์ที่มีเหตุผลยอมรับกันได้ในองค์กร
  • ศักยภาพในการทำงาน อีกเกณฑ์หนึ่งที่ควรจะเอามาใช้ แต่ในทางปฏิบัติไม่ค่อยเห็นใครเอามาใช้สักเท่าไหร่ก็คือ เรื่องของศักยภาพในการทำงานของพนักงาน ที่จะต้องรับผิดชอบงานที่สูงขึ้นนั่นเองครับ เพราะคนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งนั้นจะต้องมีความพร้อมที่จะรับเอาความรับผิดชอบที่หนักขึ้น ยากขึ้น และมากขึ้นไปด้วย เพราะถ้าพนักงานไม่มีความพร้อมเพียงพอ ก็อาจจะเป็นการทำร้ายพนักงานในทางอ้อมก็ได้นะครับ ทำงานในตำแหน่งพนักงานประสบความสำเร็จอย่างดี แต่พอเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปปุ๊ป ผลงานตกทันที แบบนี้เราเรียกว่าพนักงานยังขาดศักยภาพครับ
ถ้าจะทำเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งให้ชัดเจน ผมคิดว่า เราต้องใช้ทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นมาผูกเข้าด้วยกัน ก็คือ เอาผลงานพนักงานมาผูกกับอายุงาน ใครที่ผลงาน A มาตลอด อาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีที่เข้าข่ายน่าจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ใครที่ผลงานออกมากลางๆ ก็ใช้จำนวนปีมากหน่อย และนอกจากระดับผลงานและจำนวนปีแล้ว สิ่งที่ควรจะพิจารณาประกอบด้วยก็คือ ศักยภาพของคนๆ นั้นว่าพร้อมที่จะรับงานที่ยากขึ้นหรือไม่ เคยแสดงความสามารถอะไรออกมาให้เห็นว่า เขาพร้อมที่จะรับงานที่ยากขึ้นได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ หลายๆ ที่ก็เอาไปผูกกับระบบ Competency นั่นเองครับ
ถ้าทั้ง 3 ปัจจัยพร้อมสรรพแล้ว แสดงว่า พนักงานคนนั้นพร้อมที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งแล้ว ทั้งนี้จะได้ไม่เป็นการทำร้ายพนักงาน และองค์กรเองก็จะได้ผลงานที่มีมูลค่าเพิ่มจากพนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งอีกด้วย
อีกปัจจัยหนึ่งที่มีหลายองค์กรเอามาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาการเลื่อนตำแหน่ง ปัจจัยนั้นก็คือ การสอบ ผมเองไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ กับเรื่องของการสอบเพื่อเลื่อนระดับ หรือเลื่อนตำแหน่ง เพราะการสอบไม่ได้บอกผลงานที่ผ่านมา การสอบไม่ได้บอกถึงศักยภาพพนักงาน การสอบบอกได้แค่เพียงว่าพนักงานมีความรู้หรือไม่ บางคนแค่ท่องจำมาสอบก็ผ่านแล้ว
ถ้าจะใช้การสอบ ก็ต้องใช้ประกอบกับเกณฑ์ทั้ง 3 เกณฑ์ข้างต้นด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น อาจจะต้องมีการออกแบบข้อสอบให้สะท้อนถึงความคิด และวิธีการแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น เพื่อให้พนักงานแสดงให้ได้ในคำตอบ
เคยเจอมั้ยครับว่า พนักงานสอบผ่าน ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง แต่ทำงานไม่เป็นเลย ถ้าเป็นแบบนี้แปลว่าเราไม่ได้รับประโยชน์จากการเลื่อนตำแหน่งเลยครับ พนักงานเองก็คงไม่ค่อยรู้สึกภาคภูมิใจเท่าไหร่กับการเลื่อนตำแหน่งแบบนี้ (หรือเปล่า)

วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

‘คำคมเพื่อสร้างกำลังใจ’

ประวัติเอกสารจากหมวดหมู่ ‘คำคมเพื่อสร้างกำลังใจ’

 

เวลา กับ เงิน สิ่งไหนมีคุณค่ามากกว่ากัน
เราให้คุณค่ากับเวลา หรือ เงิน
“People who use “suffering” to work will receive only “suffering” as a gift of work.
People who use “happiness” to work will receive “happiness” as a gift of work.”
–Joe Rester–
“ใครทีทำงานด้วยความทุกข์ทรมาน ก็จะได้รับความทุกข์ทรมานเป็นของขวัญในการทำงาน
ใครที่ทำงานด้วยความสุข ก็จะได้รับความสุขเป็นของขวัญจากการทำงานเช่นกัน”
–โจ เรสเตอร์–
“ผม บอกพนักงานอยู่เสมอ ว่าในโลกนี้ ไม่มีคนไหนเก่งไปตลอดกาล วันนี้คุณอาจเก่ง แต่พรุ่งนี้ อาจมีคนเก่งกว่าคุณ
เพราะฉะนั้น คนใดก็ตามที่ภูมิใจว่า ตนเองเก่ง จงจำเอาไว้ได้เลยว่า ความหายนะใกล้มาถึงตัวคุณแล้ว ความโง่คืบคลานมาใกล้ตัวคุณแล้ว”
ธนินท์ เจียรวนนท์
” ต้นไม้ต้นใหญ่ๆ เกิดจากกล้าไม้ต้นเล็กๆ
หอสูงเสียดเมฆา ฐานรากเตี้ยติดดิน
การเดินทางหลายพันลี้ เริ่มจากการก้าวเท้าก้าวแรก “
นรินาม
สดใส และมีพลังในการเริ่มต้นทำงานในส​ัปดาห์นี้นะครับ
“No one is in control of your happiness but you; therefore, you have the power to change anything about yourself or your life that you want to change.”
- Barbara de Angelis
ดังนั้นจะสุขหรือทุกข์ จะดี หรือไม่ดี ก็อยู่ที่ตัวเราทั้งสิ้นครับ
เริ่มต้นวันจันทร์ด้วยจิตใจที่เป็นสุข และมีความสุขในการทำงานนะครับ

การเลื่อนตำแหน่ง ทำไมถึงมีปัญหากันน้อ

การเลื่อนตำแหน่ง ทำไมถึงมีปัญหากันจัง


ช่วงต้นปีแบบนี้ นอกจากเรื่องของการขึ้นเงินเดือนประจำปีแล้ว ก็ยังมีอีกเรื่องที่หลายองค์กรดำเนินการไปพร้อมกันเลยก็คือ เรื่องของการเลื่อนตำแหน่ง แต่ผู้จัดการในบ้านเรายังมีความเข้าใจผิดในเรื่องของการเลื่อนตำแหน่ง และเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่งอยู่พอสมควร โดยผมสังเกตจากเวลาที่ไปวางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือนให้กับลูกค้า ก็จะเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาของการเลื่อนตำแหน่งอยู่หลักๆ 2 ประการก็คือ
  • เลื่อนตำแหน่งตามกาลเวลา กรณีนี้ก็คือ ผู้จัดการมองเห็นแล้วว่าลูกน้องของตนเอง ถึงเวลาที่จะต้องได้รับการเสนอเลื่อนตำแหน่งแล้ว เหตุผลก็คือ ทำงานครบ 3 ปีบ้าง 5 ปีบ้าง ฯลฯ แค่นั้น และก็แค่นั้นจริงๆ นะครับ ไม่มีเหตุผลอื่นประกอบเลยว่าทำไมต้องเลื่อนตำแหน่งให้พนักงานคนนี้ นอกจากเวลาทำงานที่อ้างไว้
  • เลื่อนตามความรู้สึก กรณีนี้เกิดขึ้นเวลาที่หัวหน้างาน หรือผู้จัดการรู้สึกประทับใจผลงานของพนักงานคนนี้ ก็เลยอยากจะให้รางวัลให้มากกว่าคนอื่นหน่อย แต่ไม่รู้ว่าจะให้อะไร ก็เลยเสนอเลื่อนตำแหน่งซะเลย จะได้ทำให้พนักงานรู้สึกดี ในกรณีนี้อีกเช่นกัน เคยเกิดกรณีที่ว่า ทำงานแต่เพียง 8 เดือนเท่านั้น หัวหน้าก็เสนอเลื่อนตำแหน่งให้ โดยที่คนรอบข้าง ก็งงๆ ว่า ทำไมถึงได้รับการเสนอชื่อ ทั้งๆ ที่คนอื่นทำงานกันมาตั้งนานกลับไม่ได้อะไร สุดท้ายก็เป็นเรื่องของความรู้สึกของผู้จัดการคนนั้น ว่าพอใจจะเลื่อนให้ใครก็จะเสนอคนนั้น
ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ เวลาที่เสนอเลื่อนตำแหน่งนั้น โดยมากจะเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น พร้อมกับมีการปรับเงินเดือนให้สูงขึ้นเช่นกัน แต่สิ่งที่ไม่ได้เลื่อนไปตามตำแหน่งที่สูงขึ้นเลยก็คือ หน้าที่และความรับผิดชอบครับ งานทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ก่อนเลื่อนทำอะไร หลังเลื่อนแล้วก็ยังคงทำงานแบบเดิม คำถามก็คือ แบบนี้ใช่การเลื่อนตำแหน่งจริงๆ หรือ??
แล้วจริงๆ การเลื่อนตำแหน่งนั้นต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
การเลื่อนตำแหน่งโดยส่วนใหญ่จะถูกแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ
  • เลื่อนตำแหน่งตามสายวิชาชีพ ก็คือ มีการจัดทำ Career Path และเลื่อนตำแหน่งไปตามความลึกของงานที่จะต้องทำ โดยส่วนใหญ่ตำแหน่งทางสายอาชีพ จะถูกออกแบบมาโดยไม่ต้องมีการบังคับบัญชาลูกน้อง แต่จะออกแบบให้งานยากขึ้น ลึกขึ้น และเชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญก็คือ การเลื่อนตำแหน่งแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องให้ใครลาออกไปก่อน ถึงจะมีสิทธิเลื่อน เพียงแสดงความสามารถ ทักษะ และผลงานได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็จะได้รับการปรับเลื่อนตำแหน่งแล้ว
  • เลื่อนตำแหน่งตามสายบังคับบัญชา ในกรณีนี้เป็นการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปตามสายการบังคับบัญชาขององค์กร กล่าวคือ หัวหน้าลาออก หรือเกษียณไป ต้องเลื่อนพนักงานขึ้นมาทดแทน ดังนั้นการเลื่อนตำแหน่งแบบนี้จะต้องมีอัตราว่าง และมีการเลื่อนขึ้นมาทดแทน หรือไม่ก็มีการขยายองค์กรให้ใหญ่ขึ้น และมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้น ก็จะสามารถเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาได้ การเลื่อนตำแหน่งในลักษณะนี้ จะมีข้อจำกัดก็คือ ถ้าคนข้างบนไม่ไปไหน คนข้างล่างก็ไม่ได้ขึ้น
แล้วเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่งควรจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง องค์กรส่วนใหญ่มองแค่จำนวนปีที่ทำงาน แต่จริงๆ แล้วเราต้องพิจารณาให้มากกว่านั้น เพราะการเลื่อนตำแหน่งนั้นแปลว่า ตำแหน่งสูงขึ้น เงินเดือนสูงขึ้น องค์กรต้องจ่ายเงินเดือนในอัตราที่สูงกว่าเดิม ดังนั้นจะให้ยังคงทำงานเดิมนั้น มันก็ไม่สมเหตสมผล ดังนั้น การเลื่อนตำแหน่งที่ดีนั้นจะต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้ประกอบด้วย
  • ผลงานของพนักงาน โดยจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนว่า ถ้าผลงานได้ในระดับ A อย่างน้อยต้อง A กี่ปีจึงจะมีสิทธิในการได้รับการเลื่อนตำแหน่ง หรือถ้า เฉลี่ยผลงานคือ B จะต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะมีสิทธิเลื่อน ไม่ใช่ดูแค่จำนวนปีเพียงอย่างเดียว ยิ่งผลงานดีมากเท่าไหร่ ก็จะใช้จำนวนปีสั้นลง แต่ถ้าพนักงานคนใด ผลงานปานกลาง ก็ต้องใช้จำนวนปีที่นานขึ้นนั่นเอง
  • ความรู้และทักษะที่เพิ่มขึ้น โดยในการเลื่อนตำแหน่งนั้น เราจะต้องพิจารณาเรื่องของ ความรู้ และทักษะของพนักงานประกอบด้วย เพื่อดูว่า พนักงานคนนั้นมีศักยภาพในการที่จะปฏิบัติงานที่ยากขึ้นได้จริงหรือไม่
  • มี Competency ในระดับที่สูงขึ้นตามตำแหน่งใหม่ที่จะเลื่อนไป เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่บริษัทที่นำเรื่องของ competency มาใช้นั้นจะต้องมีการวางเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า แบบไหนถึงจะอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง แบบไหนที่จะต้องพัฒนาต่อและค่อยมาดูกันในปีหน้า
ถ้าใครที่ผ่านทั้ง 3 เกณฑ์ข้างต้น จึงจะถือว่าได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามที่เสนอมา แต่ส่วนใหญ่ที่เจอมาก็คือ ผ่านแค่เรื่องของจำนวนปีเท่านั้น เรื่องอื่นไม่ค่อยมีการพิจารณากันสักเท่าไหร่
ผลก็คือ บริษัทต้องจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานในอัตราที่สูงขึ้น โดยที่ไม่ได้มูลค่าเพิ่มอะไรจากพนักงานเลย ดังนั้นถ้าองค์กรของเราจะต้องมีการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ก็ขอให้มองให้ครบทุกด้านก่อนที่จะเลื่อนตำแหน่งนะครับ

เวลาหายไปไหนหมด

 

เวลาหายไปไหนหมด

บางคนทำงานหามรุ่งหามค่ำ และมักจะบ่นว่า ไม่มีเวลาทำอย่างอื่นเลย วันๆ ทำแต่งาน ก็เข้าข่ายที่เรียกว่า Work Hard แต่ทำไมบางคนเราถึงรู้สึกว่า เขามีเวลามากมายในแต่ละวัน และสามารถทำผลงานออกมาได้อย่างต่อเนื่อง แถมยังมีเวลาในการพัฒนาตัวเอง พักผ่อน ไปเที่ยว ฯลฯ ได้อย่างสบายๆ ทั้งๆ ที่ทุกวันเราก็มีเวลาเท่ากันทุกคนก็คือ วันละ 24 ชั่วโมง แล้วเราก็เรียกคนกลุ่มนี้ว่า Work Smart
เรื่องของการบริหารเวลานั้น เป็นปัญหาของคนเราทุกคน เป็นศิลปะในการจัดการกับชีวิตตนเอง คำว่าบริหารเวลาจริงๆ แล้วเราไม่ได้ไปบริหารเวลาที่มีอยู่เลย เราบริหารการใช้เวลาของเราเองต่างหาก เพราะทุกคนมีเวลาเท่ากันคือวันละ 24 ชั่วโมง ดังนั้นใครที่สามารถจัดการกับการใช้เวลาของตนเองได้อย่างดี เขาก็จะมีเวลาทำอะไรอย่างอื่นได้มากขึ้น แล้วทำไมบางคนถึงมักจะชอบพูดว่า “ไม่มีเวลา” เราลองมาดูสาเหตุกันนะครับ
  • ไม่มีการทำรายการที่จะต้องทำในแต่ละวัน คนที่ไม่สามารถบริหารเวลาของตนเองได้ดี สาเหตุแรกก็คือเวลาทำงานในแต่ละวันไม่มีการทำรายการว่าในวันนี้จะต้องทำอะไรบ้าง หรือที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า To do list ผลก็คือ ทำโน่นนิด นี่หน่อย เวลามีใครขอให้ทำ หรือช่วยอะไร ก็ทำไปเรื่อย สุดท้ายก็ไม่เสร็จสักอย่าง บางคนมีการทำ to do list ไว้อย่างชัดเจนแปะไว้ที่โต๊ะบ้าง หรือใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยบ้าง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถควบคุมตนเองให้ทำงานตามรายการที่กำหนดไว้ได้เลย กลายเป็นเอาเวลาไปทำอย่างอื่นหมด
  • ไม่มีการตั้งเป้าหมายและความสำเร็จของงานและของตัวเอง ปกติถ้าเรามีการตั้งเป้าหมายในการทำงานของตนเองไว้อย่างชัดเจนแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ เราจะกำหนดแผนงาน และเวลาในการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่เราต้องการ ในการทำงานก็เช่นกัน ถ้าเราไม่มีการกำหนดเป้าหมายความสำเร็จของงานไว้ล่วงหน้า เราก็จะมองไม่เห็นว่างานไหนสำคัญกว่างานไหน เราก็มักจะทำงานที่ง่ายกว่าก่อน เก็บงานที่ยากๆ ไว้ทีหลัง ผลสุดท้ายก็คือ เหลือแต่งานยากๆ ในเวลาที่เหลือน้อยลง
  • ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของงาน หลายคนมักจะทำงานที่อยากทำก่อน แต่เป็นงานที่ไม่มีความสำคัญมากนัก เช่นทุกเช้าจะต้องเช็คอีเมล์ อ่าน Facebook ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานเลย บางครั้งก็เลยเถิดกันไปจนไปกินเวลาในการทำงานปกติ ซึ่งก็ทำให้เวลาในการทำงานที่สำคัญๆ น้อยลงไปอีก
  • ไม่สามารถจัดการกับสิ่งกระทบรอบๆ ตัวได้ บางคนเวลาที่มีใครคุยกัน หรือทำอะไรข้างๆ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องหยุดงานที่ทำ แล้วไปคุย และไปทำอะไรกับเขาด้วย บางครั้งมีโทรศัพท์จากเพื่อนเข้ามาเวลางาน ก็ทำให้เราต้องหยุดงาน และถ้าเราไม่สามารถควบคุมสิ่งกระทบเหล่านี้ เราก็จะเลยเถิดอีกเช่นกัน ก็คือเพลิดเพลินไปกับสิ่งรอบข้างที่เข้ามาหาเรา โดยลืมไปว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคืออะไร สุดท้ายก็หมดเวลา
  • ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง คนที่ไม่สามารถบริหารการใช้เวลาของตนเองได้มีสาเหตุหลักอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง เช่นเห็นว่า งานยังไกลจากกำหนดเสร็จ ก็ยังไม่ลงมือทำทั้งๆ ที่ก็ยังพอมีเวลาทำ แต่กลับเลื่อนไปเรื่อยๆ จนถึงวันใกล้กำหนด ก็มาเร่งทำ แล้วก็มาบ่นว่า “ไม่มีเวลา”
  • ปฎิเสธคนอื่นไม่เป็น คนแบบนี้เวลาที่มีใครมาขอให้ทำอะไร ทั้งงานตัวเอง และไม่ใช่งานตัวเอง ก็ตอบรับไว้ทั้งหมด โดยไม่พิจารณาว่า เวลาที่เรามีอยู่กับงานของเราเองนั้นมีเพียงพอหรือไม่ แต่ด้วยความเกรงใจ และไม่อยากให้คนอื่นมองเราไม่ดี ก็เลยรับไว้ทั้งหมด บางคนรับจนเรียกกว่าทำอะไรไม่ถูกเลยก็มี สุดท้ายก็ทำไม่เสร็จสักงาน กลายเป็นว่าคนอื่นก็มองเราไม่ดีอยู่ดี เพราะรับปากแล้วทำไม่ได้ตามที่ตกลงไว้
5 ปัจจัยข้างต้นก็คือสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เวลาของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ใครที่สามารถบริหารจัดการกับกิจกรรมของตนเองได้อย่างดี ก็จะมีเวลาเหลือที่จะทำอย่างอื่นอีกมากมาย ในทางตรงกันข้ามใครที่ไม่สามารถควบคุมการใช้เวลาของตนเองได้ ปล่อยให้เป็นไปตามความสบาย หรือตามความต้องการของตนเอง สุดท้ายเราก็จะไม่เหลือเวลาในการทำสิ่งที่สำคัญกว่า
จากประสบการณ์ของผมเอง การที่เราจะบริหารการใช้เวลาของตนเองได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพนั้น มีเคล็ดลับอยู่แค่เรื่องเดียวเท่านั้น ซึ่งก็คือ “Self-Discipline” หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า “วินัยในตนเอง” ควบตัวเองได้ตามรายการที่ทำไว้ ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ทำตามแผนงานที่กำหนด สุดท้ายเราจะเหลือเวลาในการพักผ่อนและใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อีกเยอะครับ
วันนี้คุณมีเวลาเหลือบ้างหรือเปล่าครับ